วัดคงคารามดอนหวาย
วัดไทย ในจังหวัดนครปฐม
วัดดอนหวายคงคารามงามอุโคตร เขาโปรโมทด้วยตลาดการค้าขาย
ผูกแพใหญ่เช่าขายของมองตาลาย ริมแม่น้ำนั่งสบายลมชายโชย
หลายบัสมาจับจ่ายปลื้มลืมเข้าวัด สารพัดซื้อตะบันกันหิวโหย
พระอารามงามกระจ่างหรือร้างโรย ต้องร้องโอยลืมอาวาสตลาดบัง
วัดคงคารามดอนหวาย หรือ วัดโคกหวาย
วัดคงคารามดอนหวาย หรือ วัดโคกหวาย
วัดดอนหวายหรือวัดคงคารามดอนหวายตั้งอยู่ริม แม่น้ำนครไชยศรี ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะตลาดน้ำดอนหวายซึ่งเป็นแหล่งอาหารการกินและซื้อหาพืช ผัก ผลไม้ จากไร่สวนของชาวบ้านสองฟากฝั่งนครไชยศรีเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ สร้างวัดดอนหวายเนื้อที่ ๙ ไร่เศษ เมื่อแรกเรียกกันว่า "วัดโคกหวาย" ตามชื่อหมู่บ้านโคกหวายซึ่งมีต้นหวายขึ้นอยู่มากในย่านนี้
ประวัติผู้สร้างวัดคงคารามดอนหวาย
สมเด็จพระพุฒาจารย์ พุก
ผู้สร้างวัดดอนหวายเป็นพระสงฆ์ทรงสมณะศักดิ์ชั้นสมเด็จนามว่า "สมเด็จพระพุฒาจารย์พุก" อดีตเจ้าคณะใหญ่แขวงกรุงเก่า เจ้าอาวาสวัดศาลาปูนท่านเป็นชาวนครไชยศรี เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑ มรณภาพในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังมีรูปหล่อของท่านอยู่ที่กุฏิตึกวัดศาลาปูน ได้สร้างวัดเมื่อราวพุทธศักราช ๒๓๙๔ ซึ่งเป็นยุคต้นรัชกาลที่ ๔ งานศิลปกรรมของวัดดอนหวายจึงผสมผสานกันด้วยโครงสร้างหลักเหมือนรูปแบบสมัย รัชกาลที่ ๓ แต่มีการตกแต่งช่อฟ้า หลังคาแบบรัชกาลที่ ๔ ปัจจุบันได้ซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปหลายประการแล้ว
เป็นอาคารทรงไทยหลังคาซ้อน ๓ ชั้น
เจ้าคุณธรรมราชานุวัฒน์ อาด จันทโชโต เจ้าอาวาสวัดศาลาปูนรูปถัดมาซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของพุฒาจารย์พุ๊ก ท่านทำการปฏิสังขรเพิ่มเติมในยุคนี้ได้มีการปรับปรุงชื่อวัดเป็น "วัดคงคารามดอนหวาย" หมายถึงวัดที่อยู่ริมน้ำ อุโบสถหลังเดิมเป็นทรงโรงหน้าบรรณ ชั้นลดเป็นเสาสี่เหลี่ยมใหญ่และผนังรับหลังคา แต่อุโบสถที่เห็นนี้สร้างขึ้นใหม่ในสมัยปัจจุบัน เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ เป็นอาคารทรงไทยหลังคาซ้อน ๓ ชั้น มีมุขทั้งหน้า-หลัง หน้าบรรณตกแต่งลายธรรมจักร ซุ้มเหนือประตูและหน้าต่าง ตกแต่งทรงยอดมณฑปทั้งหมด
หลวงพ่อวิไลยเลิศ
หลวงพ่อวิไลยเลิศ ณ วัดคงคารามดอนหวาย
พระประธานปางมารวิชัยนามว่า "หลวงพ่อวิไลยเลิศ" เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการบูรณะซ่อมแซมให้พุทธลักษณะสวยงามขึ้นและจัดทำเม็ดพระสพขึ้นใหม่ทั้งหมด ลงรักปิดทองทั้งองค์ ด้านซ้าย-ขวามีพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร ใบเสมารอบอุโบสถทำด้วยหินแกรนิตแกะสลักลายประจำยามและลายกนกแบบที่เห็นได้ทั่วไป ซึ่งนิยมทำขึ้นแถวเมืองชายทะเลที่มีหินแกรนิตในสมัยรัชกาลที่ ๓
วิหารลักษณะทรงโรงหลังคาทรงไทยซ้อน ๒ ชั้น
วิหารตั้งขนานกับอุโบสถมีลักษณะทรงโรง หน้าบรรณ ชั้นลด หลังคาทรงไทยซ้อน ๒ ชั้นมุงกระเบื้อง หน้าบรรณตรงกลางเป็นวงกลม มีรูปปราสาทตรงกลาง ด้านข้างซ้าย-ขวามีรูปพัดยศ แสดงสมณะศักดิ์ของผู้สร้าง บันทึกในบางแห่งกล่าวว่าเป็นรูปปราสาท ๓ หลัง ซึ่งเป็นเครื่องหมายประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๓ และพัดยศ มีเสานางเรียงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ลบมุมล้อมรอบรับชายคา เป็นลักษณะของงานช่างสมัยรัชกาลที่ ๓ มีชานระเบียงเดินได้รอบ บันไดขึ้น-ลงด้านข้างด้านละ ๒ ทาง มีประตูเข้า-ออก ด้านละ ๒ ประตูเช่นกัน
หลวงพ่อวิสาหาร
หลวงพ่อวิสาหาร
ภายในวิหารทาสีขาว บานประตู หน้าต่างทาสีแดง พระประธานปางมารวิชัยนามว่า "หลวงพ่อวิสาหาร" ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้นและมีพระพุทธรูปต่างๆอีกหลายองค์ เบื้องขวาของวิหารได้ตั้งระฆังไว้ ๑๐ ระฆัง หมายถึงบารมี ๑๐ ทัต การเคาะระฆังให้ใช้เหรียญที่ได้จากการทอนเงินซื้อของมาเคาะเสียงเหรียญเคาะระฆังจะดังทำให้คนอื่นได้ยิน เพื่อให้เขาได้เข้ามาทำบุญกัน มีเจดีย์สีทองขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทั้ง ๔ มุม ภายในกำแพงแก้วเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ แทนของเดิมซึ่งชำรุดหัก พังทลายและถูกขุดค้นพระเครื่องบูชาออกไป
ตลาดน้ำวัดดอนหวาย
ปัจจุบันวัดดอนหวายกลายเป็นแหล่งการค้าขายที่ผู้คนทั้งใกล้และไกลต่างรู้จักกันดี จึงเป็นภาระไม่น้อยที่ท่านสมภารผู้ครองวัดจะต้องดูแลจัดการ ให้เกิดความสมดุลให้เป็นทั้งแหล่งสร้างบุญและแหล่งเศรษฐกิจของชาวบ้าน การอนุรักษ์และพัฒนาจึงเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งของวัดแห่งนี้
รับชมวิดีโอ
[[videodmc==28402]]